“พิธีกรรมคล้องช้าง” พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของสุรินทร์

พิธีปะชิหมอช้าง หรือ พิธีเลื่อนขั้นหมอช้าง ถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของชาวกูยที่ถูกสืบสานกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ โดยในพิธีกรรมนั้นจะมีหมอช้างเสดียงอาวุโส เป็นผู้ประกอบพิธีเซ่นไหว้ผีปะกำ และใช้ไก่ต้มในการเสี่ยงทาย หากคางไก่ตั้งตรงสวยงาม ไม่ผิดรูป จะเชื่อกันว่าจะประกอบพิธีปะชิได้

ส่วนการเลื่อนตำแหน่งของผู้ที่เป็นควาญช้าง มาเป็นหมอจาได้นั้น หมอช้างใหญ่จะทำพิธีปัดรังควานให้กับผู้ที่เป็นควาญช้างที่ได้เข้าพิธีปะชิเป็นครั้งแรก โดยจะให้นอนคว่ำหน้าและใช้ใบไม้มงคล 3 ชนิดในการปัดรังควาน ประกอบด้วย ใบไม้มะยม เพื่อเป็นที่นิยมชมชอบ ใบไม้คูณ ช่วยค้ำคูณ ทำอะไรก็จะได้ดี และใบยอ เป็นการยกยอปอปั้น ในสิ่งที่ดี ๆ

อุปกรณ์ที่สำคัญในการทำพิธีปะชิหมอช้างอีกอย่างหนึ่งก็คือ เชือกปะกำ หรือ เชือกที่ใช้คล้องช้างป่า โดยเชือกนั้นทำจากหนังควาย 3 เส้น มาถักให้เป็นเชือกและผ่านการทำพิธีโดยครูบาหรือหมอช้างใหญ่ ถือเป็นเชือกศักดิ์สิทธิ์ สำหรับใช้ในการคล้องช้างป่า

และขั้นตอนสุดท้ายของการทำพิธีปะชิ ก็คือการคล้องช้าง โดยหมอช้างใหญ่จะใช้มีดฟันเข้าไปที่ต้นไม้ เพื่อเป็นการปัดสิ่งชั่วร้าย และให้ควาญช้าง ผู้ที่กำลังจะถูกแต่งตั้งให้เป็นหมอจาขี่ช้างวนรอบบริเวณพิธีกรรม 3 รอบ ซึ่งจะต้องคล้องช้างให้ได้ในรอบที่ 3 เมื่อคล้องช้างป่าได้แล้ว หมอช้างใหญ่ก็จะจับหนังปะกำที่อยู่ตรงคอช้างป่า เพื่อนำมาบรรจุที่เชือกและทำพิธีบอกกล่าวว่า ควาญช้างคนนี้ ได้เป็นหมอช้างแล้วหลังจากนั้น หมอช้างที่ได้ทำพิธีปะกำแล้ว ถึงจะสามารถออกไปจับช้างป่าได้

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีการจับช้างป่าเหมือนแต่ก่อนแล้วก็ตาม แต่ชาวกูยก็ยังคงสืบสานพิธีกรรมนี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไปค่ะ  #หยกเล่าเรื่อง #ชุมชนแชมเปี้ยน