ประเพณีบุญผะเหวดคืออะไร? งานนี้มีคำตอบ

ประเพณีบุญผะเหวด หรือ บุญพระเวส หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญมหาชาติ ชาวอีสานจะนิยมจัดขึ้นในเดือนสี่ (ช่วงเดือนมีนาคม) เป็นบุญประจำปีในฮีตสิบสอง ดังที่ปราชญ์อีสานได้ประพันธ์ผญา (บทกลอน) เกี่ยวกับการทำบุญในช่วงเดือนสามและเดือนสี่ไว้ว่า “เถิงเมื่อเดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ ตกเมื่อเดือนสี่ค้อยจัวน้อยเทศน์มัทรี” แปลว่า เมื่อถึงเดือนสาม พระภิกษุสามเณรจะรอชาวบ้านทำบุญข้าวจี่ และเมื่อถึงเดือนสี่ (ช่วงเดือนมีนาคม) สามเณรเทศน์กัณฑ์มัทรี ในงานบุญมหาชาติบุญผะเหวดของชาวอีสานถือเป็นงานบุญสำคัญ ชาวบ้านก็จะจัดให้มีพิธีใหญ่โต ทำเป็นงานบุญต่อเนื่องกัน 2 – 3วัน ค่ะ

ซึ่งชาวอีสานนั้น จะทำบุญผะเหวด ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือน 3 เดือน 4 ไปจนถึงกลางเดือน 5 ค่ะ โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ ชาวพุทธอย่างเราก็จะมาช่วยกันจัดตกแต่งสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ก็จะมี ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้ 8 ทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับผีเปรตและมาร รอบๆ ศาลาการเปรียญก็จะแขวน ผ้าผะเหวด

ภายในงานก็จะมีเรื่องราวของพระเวสสันดรตั้งแต่กัณฑ์ที่ 1 ถึงกัณฑ์ที่ 13 การจัดงานบุญผะเหวดหรืองานเทศน์มหาชาติ นิยมอัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุอันตรายทั้งปวงและให้โชคลาภแก่ชาวพุทธที่มาทำบุญมหาชาติ

งานบุญผะเหวด เป็นงานมหากุศลที่ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ การทำความดี มีการสละความเห็นแก่ตัว เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ดังนั้นบรรพบุรุษชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายนั้นสนใจร่วมกันบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงคนรุ่นหลัง ที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป นอกจากนี้นะคะ ยังเป็นการสังสรรค์ ระหว่างญาติพี่น้องจากแดนไกล ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า “กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ” ค่ะ

#หยกเล่าเรื่อง #ชุมชนแชมเปี้ยน